- คัดเลือกโคพื้นเมือง หรือโคลูกผสมที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นได้ดี และให้น้ำนมสูงพอที่จะให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ประเทศเขตอากาศร้อนบางประเทศมีโคในท้องถิ่นซึ่งนำมาเลื้ยงเป็นโคนมได้ เช่น โคพันธุ์เรดซินด์ (Red Sindhi) พันธุ์ซาฮิวาล (Sahiwal) ในอนุทวีปอินเดีย (Indian sub-continent) โคพันธุ์ดามัสกัส (Damascus) ในตะวันออกของเอเชีย
- นำเข้าโคพันธุ์ต่างประเทศที่ให้นมและทนร้อนได้ดี เช่น การนำโค Australian Milking Zebu มาเลี้ยงในประเทศไทย
- นำเข้าโคพันธุ์แท้ในเขตหนาวที่ให้นมสูง โดยที่จัดการสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูให้มันสามารถเลี้ยงและให้ผลผลิตได้ ดังเช่นการนำโคนมพันธุ์แท้โฮลสไตน์เข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยโดยสร้างโรงเรือนและเลี้ยงดูเป็นพิเศษวิธีเช่นนี้ลงทุนสูงมาก
- นำเข้าพ่อพันธุ์โคนมหรือน้ำเชื้อโคพันธุ์ดีมาผสมกับแม่พันธุ์พื้นเมืองทำการผสมเพิ่มระดับเลือดโคนม จนได้ระดับเลือดที่เหมาะสม คัดเลือกปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ที่เหมาะสม เช่น โครงการปรับปรุงพันธุ์โคนม TMZ (Thai Milking Zebu) ของกรมปศุสัตว์
ตัวอย่างพันธุ์โคนมทนร้อนได้ดี
โคพันธุ์เรดซินด์ (Red Sindhi)
พันธุ์ซาฮิวาล (Sahiwal)
Australian Milking Zebu
ตัวอย่างวิจัย โครงการปรับปรุงพันธุ์โคนม TMZ (Thai Milking Zebu)
ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการศึกษา
การพัฒนาพันธุกรรมโคนมของประเทศไทย เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต และเป็นการสร้างทางเลือกให้เกษตรกรเลือกใช้พันธุ์โคนมที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและศักยภาพของเกษตรกรเอง โครงการสร้างพันธุ์โคนม TMZ (Thai Milking Zebu) เป็นโครงการสร้างพันธุ์โคนมทางเลือกสำหรับเกษตรกร ที่ต้องการเลี้ยงโคนมที่มีระดับสายเลือดโคยุโรปในระดับที่ไม่สูงเกินไป โดยพื้นฐานทางพันธุกรรมของโคพันธุ์ TMZ เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างโคนมพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน กับโคซีบู และผสมยกระดับสายเลือดโคพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน ให้คงใว้ที่ระดับ 75 เปอร์เซ็นต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้โคนมที่ให้ผลผลิตน้ำนมปานกลาง เลี้ยงง่าย หากินเก่ง เชื่อง ไม่อั้นนม คลอดง่ายทนทานต่อโรคและแมลงต่างๆ ทนเห็บ สามารถเลี้ยงได้ดีในระดับเกษตรกรรายย่อยทั่วไป และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นได้ดี โดยเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ถึงปัจจุบัน ซึ่งในการพัฒนาพันธุกรรมของลักษณะที่สนใจ จำเป็นต้องทราบค่าทางพันธุกรรม เพื่อใช้ในการคัดเลือกให้เกิดความก้าวหน้าทางพันธุกรรมได้อย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณค่าการผสมพันธุ์ (estimated breeding value, EBV) ที่ประมาณได้สามารถใช้ในการคัดเลือกทางพันธุกรรมของลักษณะที่สนใจ และใช้บ่งบอกผลตอบสนองทางพันธุกรรมจากการดำเนินการที่ผ่านมา โดยแสงออกเป็นค่าเฉลี่ยรายปี ที่เบี่ยงเบนไปจากค่าเฉลี่ยของฝูงปรับปรุงพันธุ์
วัตถุประสงค์ในการศึกษา
เพื่อประมาณค่าพารามิเตอร์ทางพันธุกรรมของลักษณะผลผลิตน้ำนม และศึกษาผลตอบสนองทางพันธุกรรมของลักษณะผลผลิตน้ำนม ในโคนม TMZ
ความรู้ทางวิชาการ หรือแนวคิดหรือหลักทฤษฎีที่ใช้ในการดำเนินการ
การปรับปรุงพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์สัตว์เพื่อให้ได้สัตว์พันธุ์ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด จะต้องมีการคัดเลือกสัตว์ที่แสดงลักษณะดีเด่นที่สนใจให้สามารถถ่ายทอดลักษณะสู่ลูกหลานได้ โดยค่าการผสมพันธุ์ (breeding value, BV) ซึ่งเป็นค่าอิทธิพลเนื่องจากยีนแบบบวกสะสม (additive gene effect) เป็นค่าที่นักปรับปรุงพันธุ์ให้ความสนใจเนื่องจากสามารถถ่ายทอดจากชั่วหนึ่งไปยังอีกชั่วหนึ่งได้ แต่เนื่องจากเป็นค่าที่ไม่สามารถชั่ง ตวง หรือวัดได้โดยตรง ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องมือเข้าช่วยในการวิเคราะห์ เพื่อใช้อธิบายอิทธิพลในรูปของคุณค่าการผสมพันธุ์ ซึ่งแสดงอิทธิพลออกมาในรูปของตัวเลขและสามารถใช้เปรียบเทียบความสามารถของสัตว์รายตัวได้ และใช้ในการคัดเลือกสัตว์เพื่อให้ได้ถ่ายทอดลักษณะดีเด่นสู่ลูกหลาน ในรุ่นต่อไป
วิธีการหรือขั้นตอนการศึกษา
1. การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นข้อมูลผลผลิตน้ำนมของโคนมตามโครงการสร้างพันธุ์โคนม TMZ ที่เลี้ยงในศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ลำพญากลาง และฟาร์มเกษตรกรเครือข่ายโครงการสร้างพันธุ์โคนม TMZ จำนวน 23 ฟาร์ม ในเขตพื้นที่ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ทุกข้อมูลถูกตรวจสอบและบันทึกด้วยโปรแกรมการจัดการฐานข้อมูลโคนม DHI (Dairy Herd Improvement) ของกลุ่มวิจัยและพัฒนาโคนม กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ โดยข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลผลผลิตน้ำนมต่อระยะการให้นม (actual milk yield per lactation) ที่จัดเก็บเป็นรายตัวเดือนละ 1 ครั้ง ใช้หน่วยวัดเป็นกิโลกรัม เมื่อครบระยะการให้นมจะคำนวณเป็นผลผลิตน้ำนมรวมต่อระยะการให้นมด้วยโปรแกรมการจัดการฐานข้อมูลโคนม DHI ข้อมูลที่ได้ถูกจัดเก็บไว้เป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนข้อมูล (data file) และส่วนพันธุ์ประวัติ (pedigree file)
2. การวิเคราะห์ข้อมูล ทำการวิเคราะห์องค์ประกอบของความแปรปรวน ด้วยวิธี Restricted Maximum Likelihood (REML) และประเมินค่าการผสมพันธุ์ด้วยวิธี Best Linear Unbiased Prediction (BLUP) โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป BLUPF90 PCPAK 2.0 ในการวิเคราะห์ด้วยโมเดลตัวสัตว์แบบวิธีวิเคราะห์ลักษณะเดียว คุณค่าการผสมพันธุ์ที่ประมาณได้ ถูกนำมาสร้าง Regression line ระหว่าง EBV ของพ่อพันธุ์กับค่าเฉลี่ยผลผลิตน้ำนมต่อระยะการให้นมของลูกสาว เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตน้ำนมลูกสาวต่อหน่วย EBV ของพ่อพันธุ์ โดยใช้สมการถดถอยเชิงเส้น (linear regression equation)
3. สรุปผลงาน เขียนรายงานและเผยแพร่
ระบุผลสำเร็จของงาน หรือผลการศึกษา (กรณีที่เป็นผลงานที่ดำเนินการเสร็จแล้ว)
ผลการศึกษาพบว่า ค่าอัตราพันธุกรรมและค่าอัตราซ้ำ ของลักษณะผลผลิตน้ำนมของโคนม TMZ มีค่าเท่ากับ 0.27 และ 0.50 ตามลำดับ ซึ่งมีผลตอบสนองทางพันธุกรรมในช่วงปี 2531 ถึง 2545 เพิ่มขึ้น 147.74 กิโลกรัม โดยภายหลังปี 2542 มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน กลุ่มพ่อพันธุ์โคนม TMZ ที่มีค่า EBV สูงกว่าค่าเฉลี่ยฝูงมีค่าในช่วง 23.5-146.62 กิโลกรัม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 50.22 กิโลกรัม และกลุ่มแม่พันธุ์โคนม TMZ ที่มีค่า EBV สูงกว่าค่าเฉลี่ยฝูง จำนวน 260 แม่ มีค่าในช่วง 1.05 – 479.68 กิโลกรัม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 83.01 กิโลกรัม โดยสัมประสิทธิ์รีเกรซชั่นของค่า EBV พ่อพันธุ์กับค่าเฉลี่ยผลผลิตน้ำนมลูกสาวมีค่าเท่ากับ 1.63 และมีค่า Intercept เท่ากับ 2,816.74 กิโลกรัม
การนำไปใช้ประโยชน์ หรือคาดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์
ค่าอัตราพันธุกรรมของการให้ผลผลิตน้ำนมในโคนม TMZ มีค่าในระดับปานกลาง แสดงว่าในการปรับปรุงลักษณะต้องให้ความสำคัญต่อการจัดการและสภาพแวดล้อมควบคู่กันไป กับการพัฒนาทางด้านพันธุกรรม จึงจะส่งผลให้การพัฒนาพันธุกรรมมีความก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว โดยทิศทางในการพัฒนาพันธุกรรมการให้ผลผลิตน้ำนมในโคนม TMZ มีทิศทางในการพัฒนาที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้าทางพันธุกรรมในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงแนวทางที่ดำเนินการเป็นไปตามแผนดำเนินงานที่วางไว้ ในส่วนของการพัฒนาพันธุกรรมด้านการให้ผลผลิตน้ำนม สามารถนำคุณค่าการผสมพันธุ์ (EBV) ที่ได้จากการศึกษามาใช้ในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ที่มีความดีเด่นทางพันธุกรรมด้านการให้ผลผลิตน้ำนมทั้งในฝูงปรับปรุงพันธุ์และฟาร์มเกษตรกรเครือข่ายให้ได้ถ่ายทอดลักษณะสู่รุ่นลูกหลาน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางพันธุกรรมการให้ผลผลิน้ำนมอย่างไม่หยุดยั้ง
0 ความคิดเห็น